ความเป็นมา หลักการ และเหตุผล (Background and Rationale)

SSF ย่อมาจาก Single Stream Funding การควบรวมโครงการกองทุนโลกด้านวัณโรครอบ 8 และรอบ 10

วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน ได้รับการจัดลำดับจากองค์การอนามัยโลกว่าอยู่ในกลุ่มยี่สิบสองประเทศทั่วโลกที่มีขนาดปัญหาด้านวัณโรคสูง ประเทศไทยดำเนินการควบคุมวัณโรคตามยุทธศาสตร์ DOTS ได้ทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และบรรลุเป้าหมายสากลของการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 อัตราความสำเร็จของการรักษาในผู้ป่วยรายใหม่เสมหะพบเชื้อมีแนวโน้มดีขึ้น จากร้อยละ 75 ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 83 ในปี พ.ศ. 2550 และเป็นร้อยละ 86 ในปีพ.ศ. 2552  ประเทศไทยมีการดำเนินงานผสมผสานงานด้านวัณโรคและโรคเอดส์ทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2553 ผู้ป่วยวัณโรคมีอัตราการสมัครใจตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 77 และผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย มีอัตราการได้รับยา ART และ CPT ร้อยละ 53 และร้อยละ 71 ตามลำดับ

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการสาธารณสุขขึ้นอย่างมากและประชากรไทยได้รับการดูแลภายใต้ระบบประกันสุขภาพถึง 3 ระบบ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ประกันสังคม, สวัสดิการด้านสุขภาพของข้าราชการ) ซึ่งส่งผลให้ประชากรไทยเข้าถึงการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลของเอกชนบางแห่ง อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีประชากรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการบริการดังกล่าวได้ เช่น ประชาชนไทยที่มีฐานะยากจน กลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย กลุ่มแรงงานข้ามชาติ  ซึ่งคนเหล่านี้ยังคงขาดหลักประกันด้านสุขภาพ และมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ต้องเสียเงินเมื่อใช้บริการในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐและเอกชน   ข้อจำกัดในเรื่องนี้รวมทั้งความไม่สมบูรณ์ของกลไกความร่วมมือเพื่อตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสากลในการควบคุมวัณโรค มีการให้บริการดูแลรักษาวัณโรคสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสเพียงบางพื้นที่ของประเทศ ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ (เช่น ชาวเขาทางภาคเหนือและผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดแคลนทรัพยากรในหลายๆ ด้าน ที่จะสร้างความตระหนักแก่ประชาชนเกี่ยวกับวัณโรค สนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยและการกำกับและการสนับสนุนการรักษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว   ซึ่งส่งผลกระทบต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยาหลายขนานในประเทศ

งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัณโรคจากองค์กรกองทุนโลก รอบ SSF นี้ จะมุ่งแก้ปัญหาระบบบริการแยกส่วนดังกล่าว ซึ่งรวมพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครด้วย โดยประสานการดำเนินงานร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างสำนักวัณโรค ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการคัดเลือก ตลอดจนผู้ให้บริการอื่นๆ ที่ดูแลรักษาวัณโรคในกรุงเทพมหานคร เพื่อการนี้ สำนักวัณโรคและสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครจะร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันเสนอแนะและชี้นำยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจ ด้วยตระหนักในประโยชน์ของการสนับสนุนระดับนโยบาย โครงการกองทุนโลกด้านวัณโรค SSF จะจัดตั้ง (หรือพัฒนา) ศูนย์กลางสำหรับงานด้านวัณโรคระหว่างหน่วยงานสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์รวมทรัพยากรและการเข้าถึงเครือข่ายผู้ให้บริการ

โครงการกองทุนโลกด้านวัณโรค รอบ SSF นี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับทั้งผู้มีอาการสงสัยวัณโรคและผู้ป่วยในกลุ่มประชากรด้อยโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติและประชากรเคลื่อนย้ายชาวไทย นอกจากจะมีผลดีต่อแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ในประเด็นการเข้าถึงบริการและคุณภาพบริการสำหรับประชากรเป้าหมายแล้ว โครงการกองทุนโลกนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สำหรับประชากรทั้งประเทศและภูมิภาคในที่สุด

 

 
 
 

PHP webstats will only get you so far.  Upgrade to GoStats.